2 ก.ย. 2553

สู่การรับใช้ที่ดีเลิศ (มก. 1:9-15)

สู่การรับใช้ที่ดีเลิศ (มก. 1:9-15)
( มก. 1.9-15 ) หัวข้อ "สู่การรับใช้ที่ดีเลิศ"


คำนำ พระเยซูคริสต์ทรงเริ่มต้นชีวิตแห่งการปรนนิบัติรับใช้อย่างดีเลิศ ด้วยการเข้ารับบัพติสมาในแม่น้ำจอร์แดนจาก ยอห์น บัพติสโต หลังจากนั้นพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงนำพระองค์เข้าสู่ถิ่นทุรกันดารเพื่อให้มารซาตานทดลอง ทั้งสองเหตุการณ์เราได้เห็นกระบวนการเตรียมชีวิตของพระเยซูคริสต์เพื่อการรับใช้

หลัก คือ พระเยซูคริสต์ ทรงเป็นต้นแบบในการรับใช้ของเรา ซึ่งถ้าเราปรารถนาจะรับใช้ให้ดีเลิศนั้น เราต้องเลียนแบบชีวิตการรับใช้จากพระเยซูคริสต์ ผู้ทรงเป็นพระบรมครู ผู้ทรงเป็นต้นแบบของเรา

1) สละ (9)

-พระเยซูได้เสด็จออกจากเมืองนาซาเร็ธแค้วนกาลิลี พร้อมชาวบ้านหลายคน ไปที่แม่น้ำจอร์แดนเพื่อรับบัพติสมาจาก ยอห์น บัพติสโต

-เราได้เห็นวิญญาณการสละของพระเยซู คือ ทรงสละครอบครัว สละบ้าน สละพี่น้อง สละอาชีพช่างไม้ทำเฟอร์นิเจอร์ สละสถานภาพ โดยถ่อมพระองค์ลง แม้ทรงเป็นพระบุตรของพระเจ้าเพื่อให้มนุษย์ธรรมดา อย่าง ยอห์น บัพติสมา พระองค์จึงเป็นต้นแบบแห่งการสละ ทรงให้บทเรียนแรกแก่เรา ผู้ทรงสละสภาพพระเจ้า ถือกำเนิดเป็นมนุษย์ และถ่อมพระทัยลงกระทั่งความมรณาบนกางเขน (ฟป.2.6-7), นอกจากนี้ยังทรงเป็นต้นแบบของผู้เลี้ยงที่ดีเลิศ คือ สละชีวิตของตนเพื่อฝูงแกะ (ยน.10.11)


-คนจะรับใช้พระเจ้า ต้องรู้จักและเกิดในคำว่า "สละ" เพราะถ้าเราไม่สละ ไม่มีอุดมการณ์ ไม่มุ่งมั่นที่จะสละ เราจะรับใช้ให้ดีไม่ได้ อย่ามารับใช้เลย? เพราะสาวกนั้นมีมาตรฐานหนึ่งที่สำคัญมาก ที่ทุกคนต้องผ่านต้องมี คือ (มก.8.34) "ถ้าผู้ใดใคร่ตามเรามา ให้ผู้นั้นเอาชนะตนเอง รับกางเขนของตนแบก และตามเรามา" เราเห็นตัวอย่าง จาก เศรษฐีหนุ่มคนหนึ่งใน (มธ.19.22) ที่อยากเป็นสาวก แต่ไม่สามารถสละเงินได้

2) มีการเจิม (10-11)

-เมื่อพระเยซูทรงขึ้นจากน้ำ พระวิญญาณบริสุทธิ์ดุจนกพิราบ ลงมาสู่พระองค์

-เราได้เห็นการเจิมจากพระเจ้าเหนือพระเยซูคริสต์ พระองค์ทรงเป็นผู้ที่พระเจ้าทรงเจิมไว้ (อสย.42.1-4 , 61.1-3) ซึ่งการเจิมในชีวิตของผู้รับใช้พระเจ้านั้นสำคัญมาก (1ยน.2.27) เพราะเราทำงานฝ่ายวิญญาณ เป็นงานของสวรรค์ เราต้องการกำลังจากเบื้องบน ต้องมีพลังภายในชีวิตจิตใจ มีการทรงสถิตของพระเจ้า มีฤทธิ์อำนาจแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ทำงานภายในตัวเรา เพื่อจะรับใช้ในงานของสวรรค์ได้ดีนั้น พระเยซูคริสต์ต้องกำชับเหล่าสาวก ว่า "อย่าออกไปไหน แต่ให้คอยรอรับตามพระสัญญา ที่ห้องชั้นบนในกรุงเยรูซาเล็ม... จนกว่าจะประกอบไปด้วยฤทธิ์เดชที่มาจากเบื้องบน" (ลก.24.49)


-เมื่อเรามีประสบการณ์ในการเต็มล้นด้วยพระวิญญาณนั้น จะทำให้เรามีพลังในการเป็นพยานฝ่ายองค์พระผู้เป็นเจ้าอย่างดีเลิศ (กจ.1.8) ตัวอย่างจากทัศนคติเรื่องคำเทศนาของ อ.เปาโล ใน (1คร.2.4-5 และ, 2ทธ.1.5)


3) ผ่านการทดสอบ (12-13 ก)

-พระเยซูคริสต์ ทรงผ่านการทดสอบในการอดอาหารในถิ่นทุรกันดาร 40 วัน เผชิญกับมารซาตาน (มธ.4.1-11) ชีวิตเราเช่นกันจะรับใช้พระเจ้า หรือทำงานได้ดีแค่ไหนต้องผ่านการทดสอบ เพื่อเราจะเป็นภาชนะที่พระองค์ทรงใช้การได้อย่างดีที่สุด (2ทธ.2.20-21 )

-จากตัวอย่างที่พระเยซูคริสต์ถูกทดสอบนั้น ทรงถูกทดสอบ 3 ด้าน เช่นเดียวกับชีวิตเรา คือ

3.1) ด้านชีวิตส่วนตัว (เสกก้อนหินเป็นขนมปัง)


3.2) ด้านสติปัญญา (ให้กระโดดตึก แล้วฑูตจะมาช่วย)


3.3) ด้านแรงจูงใจ (ให้กราบนมัสการผี แล้วมันจะยกอาณาจักรความมั่งคั่งของโลกให้)

4) มีพระวจนะเป็นหลัก (13 ข)

-ในข้อ (14 ข) บอกว่า พระเยซูทรงผ่านการทดสอบ และมีพวกฑูตสวรรค์มาปรนนิบัติพระองค์

-เราพบว่าพระเยซู ทรงชนะการทดลองด้วยพระวจนะของพระเจ้า พระองค์มีหลัก และทรงยึดหลักแห่งพระวจนะ ในการใช้โต้ตอบกับมารซาตาน ทรงนำพระวจนะมาประยุกต์ใช้เผชิญกับปัญหาวิกฤตชีวิตอย่างยอดเยี่ยม (มธ.4.4, 6-7, 10) จนที่สุดพระองค์ผ่านวิกฤตได้ และพระเจ้าได้ทรงหนุนน้ำใจ ปลอบโยนส่งฑูตสวรรค์ มาปรนนิบัตินั่นเอง

-พระคัมภีร์นั้นเป็นอาวุธของทหารพระคริสต์ ผู้รับใช้พระเจ้าต้องใช้อาวุธเป็น มิใช่แค่รู้จักอาวุธ รู้ข้อมูลของอาวุธอย่างละอียด แต่กลับใช้ในชีวิตจริงไม่เป็นเลย ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น เราเองก็จะทำงานโดยเปล่าประโยชน์แน่ๆ (ฟป.2.16) ให้เรามีหลักในการรับใช้ คือ ทำทุกสิ่งโดยยึดหลักแห่งพระวจนะ เพราะพระวจนะนั้นเป็นประโยชน์ (2ทธ.3.16, ฮบ.4.12)

-พระวจนะนั้น คือ ความคิดของพระเจ้า ดังนั้นให้เชื่อและนบนอบต่อความคิดของพระองค์ และเมื่อใดที่ความคิดของเราเกิดทิฐิมานะขึ้น มีเหตุผลจอมปลอมมากมาย ก็ขอให้เรานบนอบและยอมจำนนต่อพระวจนะของพระองค์ (2คร.10.5)


-ผู้รับใช้นั้นต้องมีหลัก มิใช่ลอยไปมา ขาดหลักการในชีวิต ในการรับใช้ ถ้าเรามีหลักดี เราก็จะล้มยาก และเมื่อยึดหลักในการทำทุกสิ่ง ....เราจะไม่พลาดเลย (สดด.119.89)


5) ผล คือ รับใช้ดีเลิศ (14-15)

5.1) แม้เจอวิกฤต (14)

-"ครั้น ยอห์น ถูกอายัดแล้ว พระเยซูก็เสด็จออกไปประกาศ.."

-ยอห์น บัพติสโต ถูกกษัตริย์เฮโรด จับขังคุกและที่สุดถูกประหารชีวิต เพราะไปแตะเรื่องส่วนตัวของเฮโรดที่ทำผิดทำบาป แม้เจอเรื่องวิกฤต พระเยซูคริสต์ก็เดินหน้าทำงานต่อไป

ชีวิตเราเช่นกัน ถ้าตั้งแต่ (ข้อ 1-4 ) เราผ่านได้ ผลที่ตามมาคือ เราจะแกร่งมากขึ้น และรับใช้ได้ดีเลิศ ไม่มีสิ่งใดมาหยุดได้ เช่น อ.เปาโล (กจ.20.19, 24)

5.2) แม้รีบเร่ง (15)

-"เวลากำหนดมาถึงแล้ว และแผ่นดินของพระเจ้าก็ใกล้เข้ามา..."

-งานของพระเจ้านั้นเป็นงานเร่งด่วนมิใช่ ทำเมื่อว่าง หรือทำเมื่อพร้อม ทีหลัง แต่ต้องทำทันที (ยก.4.13) อย่ารอพรุ่งนี้ อย่างไรก็ตามขอให้เราสมดุลย์และเข้าใจชีวิตในภาพรวมด้วย นั่นคือ ภาระที่พระเจ้าให้กับเรานั้น มันพอเหมาะกับชีวิตของเรา (Fit) ใน (มธ.11.30) พระองค์ทรงรู้จักกำลังของเรา และเมื่อใดก็ตามที่เราเผชิญสิ่งที่เกินกำลัง พระองค์จะทรงช่วยเรา

เพราะแอกที่เราแบกนั้นแท้จริงผู้ที่แบกแท้จริง คือ องค์พระเยซูคริสต์ต่างหาก ( อสย.9.6 ) บอกว่า "..และการปกครองจะอยู่ที่บ่าของท่าน"

-อย่าให้ผู้รับใช้คิดว่า เราแบกงานหนัก หรือเราแบกทั้งโบสถ์อยู่ จงคิดใหม่ และให้ย้ายการแบกภาระนี้ ไปไว้ที่บ่าของพระเยซูคริสต์ และเรียนจากพระองค์ พึ่งพาพระองค์ ให้พระองค์นำหน้าไปตลอดทาง โดยตัวเราพร้อมร่วมมือเป็นภาชนะที่พระองค์ทรงใช้ได้ตลอดเวลาชั่วชีวิต

เลือกคนร่วมทาง (มก.1:16-20)

(มก.1.16-20) เลือกคนร่วมทาง



คำนำ พระเยซูทรงเลือกสาวกร่วมทางกับพระองค์ เป็นพี่น้อง 2 คู่ คือ ซีโมนกับอันดูร์ และ ยากอบกับยอห์น บุตรเศเบดี การเลือกผู้ร่วมทางของพระองค์ครั้งนี้สอนเราหลายอย่าง เพื่อประยุกต์ใช้ในการเลือกคนร่วมทางเดิน ทั้งร่วมงาน ร่วมชีวิต หรือร่วมรับใช้ ซึ่งมีหลักดังนี้



1 . เลือกคนที่คล้ายๆ กัน (16)

วิธีการเลือกสาวกกลุ่มแรกของพระเยซูนั้น ทรงใช้วิธีง่ายสุดและน่าเป็นได้สุด ถนัดสุด คือ ไปพูดกับคนที่มีอะไรคล้ายๆกับพระองค์คือ เป็นคนธรรมดาสามัญชาวประมง เช่นเดียวกับที่พระเยซูเอง ก็ทรงเป็นชาวบ้านธรรมดาอาชีพช่างไม้ ดังนั้นพระองค์และพวกเขาคงสามารถปรับตัวสนิทกันได้ง่ายขึ้น เพราะมีพื้นฐานในชีวิตที่คล้ายๆกัน

กัน ไม่แตกต่างกันมากจนยากที่จะปรับตัวเข้าหากัน แม้ความจริงจะเป็นไปไม่ได้ที่คนเราจะมีอะไรเหมือนกันทุกอย่าง แต่อย่างน้อยควรมีทิศทางเดียวกัน คือไปในทิศเดียวกันได้ แม้วิธีการปลีกย่อยจะต่างกันออกไป แต่สามารถเดินไปในทิศทางเดียวกันได้ ใน(อมส.3.3)บอกว่า"สองคนจะเดินไปด้วยกันได้หรือ นอกจากทั้งสองจะได้ตกลงกันไว้ก่อน" และ(ฟป.1.27)"หนุนใจให้คงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ต่อสู้เหมือนอย่างเป็นคนเดียวกัน "

ตัวอย่างการเลือกทีมงาน หรือคนร่วมทางที่เป็นคนคล้ายๆกัน

เช่น โมเสส เลือกโยชูวา เพราะเขามีความเชื่อ ความภักดี และกล้าหาญเป็นนักสู้เช่นกัน

เช่น เอลียา เลือกเอลีชา เพราะเขามีฤทธิ์เดช ของประทาน และอยู่เพื่อพระเจ้าสุดใจเช่นกัน

เช่น เปาโล เลือกทิโมธี เพราะเขาถูกหล่อหลอมด้วยพระวจนะมาทั้งชีวิต รักการอภิบาลเช่นกัน




2. เลือกคนที่มีสาระ (17)

"จงตามเรามาเถิด เราจะตั้งท่านให้เป็นผู้หาคนดังหาปลา"




เมื่อซีโมนและอันดูร์ ได้ยินคำพูดท้าทายของพระเยซูคริสต์นั้นก็หูผึ่งสนใจ หูฝ่ายวิญญาณเขาเปิดออก เขาสนใจคำท้าทายของพระเยซูคริสต์ที่มีคุณค่ามากๆ พวกเขาเป็นคนธรรมดาที่หาปลาหาเลี้ยงชีพไปวันๆ แต่วันนี้พระเยซูมาท้าทายเขาให้สนใจสิ่งที่มีคุณค่ากว่านั่น คือ"หาคน" ช่วยคนทั้งสองคนสนใจ "สิ่งที่มีสาระ" ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่สำคัญยิ่ง

เป็นคนสนใจสิ่งที่มีสาระมีประโยชน์ ไม่ใช่คนที่อยู่ไปเรื่อยๆ สนใจสิ่งที่ไร้สาระไปวันๆ ซึ่งคนมีสาระไม่จำเป็นต้องมีการศึกษา หรือสถานภาพในสังคมสูงๆ แม้คนธรรมดาสามัญก็มีสาระได้ มีสิ่งดีภายในได้

เช่น เมื่อพระเจ้าทรงเจิมตั้งดาวิด ขณะนั้นเขาเป็นเพียงเด็กเลี้ยงแกะ ส่วนพวกพี่ๆ นั้นรูปงาม เก่งเป็นทหารนักรบในกองทัพ แต่ดาวิดเป็นแค่เด็กน้องเล็กที่คอยส่งเสบียงให้พี่ คนส่วนใหญ่มักคิดว่า ผู้ที่พระเจ้าเจิมตั้งให้เป็นผู้นำ น่าจะเป็นคนเก่งดูดี เช่น พวกพี่ๆ ของดาวิด แต่(1ซมอ.16.7)บอกว่า "พระเจ้าทอดพระเนตรไม่เหมือนมนุษย์ดู มนุษย์ดูภายนอก แต่พระเจ้าทอดพระเนตรจิตใจ" ทั้งนี้เพราะดาวิดเป็นคนมีสาระ มีแก่นสารดีๆ ภายใน เช่น ตอนกองทัพฟิลิสเตียนำโดย ทหารยักษ์โกไลอัท มาท้าทายกองทัพอิสราเอล ไม่มีใครกล้าออกไปสู้ แต่เมื่อดาวิดได้ยิน ท่านกลับพูดว่า "จะทำอย่างไรกับคนที่เหยียดหยามกองทัพของพระเจ้า... อย่าให้จิตใจของผู้ใดฝ่อไป เพราะกลัวเจ้าโกไลอัทเลย ข้าจะไปสู้รบกับมันเอง.." (1 ซมอ.17.26,32)

ให้เราเลือกคนที่มีแก่นสารมีสาระ ให้ดูที่ภายในของเขาว่าเขาสนใจเรื่องใดในชีวิต สนใจความมั่นคง หรือแค่ฉาบฉวย สนใจอนาคตหรือปล่อยไปวันๆสนใจสิ่งที่มีประโยชน์เพื่อพัฒนาตนเอง หรือไร้สาระไปเรื่อยๆ เป็นคนใช้ชีวิตเป็นหรือไม่ เพราะ"ชีวิตมีค่ากว่าทุกสิ่ง" (มก.8.36) และ"ชีวิตคนเรานั้นสั้น"ไม่รู้ว่าพรุ่งนี้อะไรจะเกิดขึ้น (ยก.4.13-14)





3) เลือกคนที่เอาด้วย (18)


"เขาก็ละแห ตามพระองค์ไปทันที"




"ถ้าคนคล้ายๆ กันและมีสาระ แต่เขาไม่เอาด้วยกับเราก็ร่วมทางเดินไม่ได้แน่" เขาควรมีวิญญาณสนับสนุนเราตอบสนองเอาด้วย ไปด้วยกันตามทิศทางที่เราจะไป ร่วมด้วยในนิมิตยินดีเชื่อฟังเช่น(ยชว.24.15)โยชูวาท้าทายอิสราเอลว่า"จงเลือกเสียในวันนี้ว่าท่านจะปรนนิบัติผู้ใดจะปรนนิบัติพระอื่น..สิ่งอื่นหรือตัวเอง...แต่ส่วนข้าพเจ้าและครอบครัวเราจะปรนนิบัติพระเจ้า"


มีตัวอย่างในพระคัมภีร์ที่คนมีท่าทีดี มีแก่นสารสาระแต่ไม่เอาด้วยไม่ตอบสนอง เช่น

- (มธ.19..22) พระเยซูท้าทายเศรษฐีหนุ่มให้ขายทรัพย์ที่มีแล้วไปแจกคนจน แต่เขาไม่เอาด้วย

- (กจ.15.38) อ.เปาโลปฎิเสธยอห์น มาระโก ไม่ให้ร่วมออกรับใช้ในการไปประกาศครั้งที่2 ก็เพราะว่าในครั้งแรกนั้น เขาหนีกลับบ้านก่อนเพราะลำบาก ไม่อยากไปด้วยนั่นเอง


- (มก.6.1-6) ที่นาซาเร็ธบ้านเกิดของพระเยซูคริสต์แท้ๆ แม้ผู้คนที่นั่นจะที่มีอะไรคล้ายๆกับพระเยซูเป็นคนบ้านเดียวกัน และพวกเขาสนใจเรื่องราวของพระเจ้า คือมีสาระ แต่พวกเขาก็ไม่เอาด้วยกับพระเยซู กลับดูถูกอีกด้วย พระคัมภีร์จึงบอกว่า "พระเยซูทรงทำการอัศจรรย์ที่นั่นไม่ได้"




4) เลือกคนที่สนับสนุนคนอื่นได้ (19)

"ยากอบ บุตรเศเบดี กับ น้องชายกำลังชุนอวนอยู่ในเรือ"




เขาทั้งสองกำลังช่วยกันทำงานคือชุนอวน อวนนั้นเป็นอวนใหญ่ผืนเดียวนอกจาก เขาทั้งสองแล้วก็ยังมีลูกเรือคนอื่นๆ ด้วย(ข้อ20)ที่กำลังร่วมด้วยช่วยกัน ซ่อมแซมอวนให้พร้อมใช้งาน นี่เป็นคุณสมบัติที่สำคัญสำหรับคนร่วมทางไปด้วยกัน เพราะการร่วมทางนั้นเป็นการเดินไปด้วยกันหลายคน ไม่ใช่เราเดินไปคนเดียวบนทางของเรา แต่เป็นการเดินร่วมกันบนทางของพวกเรา ดังนั้นคนที่เดินไปด้วยกันนั้นต้องสนับสนุนคนอื่นได้ ทำงานร่วมกันได้เป็นทีมได้ ถ้าเราเลือกคนที่ไม่สนับสนุนคนอื่น แต่คนอื่นต้องคอยสนันสนุนเขา คนอย่างนี้ถ้าร่วมทางกันไปก็จะเกิดปัญหาแน่ๆไม่ช้าก็เร็ว

แต่ทุกคนต้องรู้จักให้และรู้จักรับ เหมือนกีฬาเป็นทีมที่ต้องมีทีมเวิร์ค รับส่งสนับสนุน ปกป้องกันไหลไปด้วยกันได้ จนสามารถบรรลุเป้าหมายและชัยชนะได้ในที่สุด (ปญจ.4.9-10)บอกว่า"สองคนดีกว่าคนเดียว ....ด้วยว่าถ้าคนหนึ่งล้ม อีกคนหนึ่งจะได้ช่วยพยุงเพื่อนของตนให้ลุกขึ้น" เช่นตัวอย่าง (1 พศด.11.10)"กลุ่มวีรบุรุษของดาวิดจำนวนมาก(ทีมทหารที่รักและสนับสนุนดาวิดอย่างแข็งแรง) เชิญพระองค์ให้เป็นพระราชาตามพระวจนะของพระเจ้า.."




5) เลือกคนที่รับผิดชอบ (20)

"...เขาจึง ละ เศเบดี บิดา ไว้ที่เรือกับลูกจ้าง แล้วตามพระองค์ไป"




ทั้งยากอบและยอห์น ไม่ได้ทิ้งบิดาไว้แล้วไปรับใช้ แต่เขาได้บริหารจัดการมีความรับผิดชอบฝากธุรกิจ ฝากกิจการเรือประมงไว้ให้พร้อมลูกจ้างที่จะดูแลสานงานต่อไปได้ เขาเป็นคนมีความรับผิดชอบ สิ่งนี้สำคัญมากเพราะ "ถ้าเราเรียกร้องให้คนเดินทางร่วมกับเราโดยไม่ตระหนักถึงหน้าที่และหลายสิ่งที่เขาต้องรับผิดชอบ เท่ากับว่าเรากำลังสอนเขาให้เป็นคนเห็นแก่ตัวและไร้ความรับผิดชอบนั่นเอง" การรับผิดชอบไม่ใช่หมายถึงเราต้องยึดติดตรงนั้นไปไหนไม่ได้ ขยับไม่ได้เลย แต่หมายถึงขอพระเจ้าประทานสติปัญญาช่องทาง เพื่อเราจะสามารถทำงานได้รับใช้ได้ ร่วมทีมได้อย่างเต็มที่ งานก็สำเร็จและชีวิตที่ไปด้วยกันได้ดีแน่ เมื่อเราตระหนักถึงความรับผิดชอบ


เช่น (ยน.19.26-27) " พระเยซูคริสต์เองบนไม้กางเขนก่อนสิ้นพระชนม์ ได้ฝากนางมารีย์มารดา ไว้กับสาวกคนที่พระองค์ทรงรักให้กลายเป็นแม่ลูกบุญธรรมกันดูแลไปตลอดชีวิต" และใน (1 ทธ.5.8) บอกว่า"ถ้าผู้ใดไม่เลี้ยงดูไม่รับผิดชอบต่อครอบครัวญาติพี่น้องคนในบ้านของตน คนนั้นก็แย่มากเท่ากับปฎิเสธพระเยซูเจ้า และชั่วร้ายยิ่งกว่าคนไม่เชื่ออีก"

สิทธิอำนาจแห่งคำสอน (มก.1:21-28)

(มก.1.21-28) "สิทธิอำนาจแห่งคำสอน"


คำนำ ในพระคัมภีร์ (ข้อ 21) บอกว่า ในวันสะบาโต พระเยซูได้เข้าไปในธรรมศาลาเทศนาสั่งสอน พระองค์ทรงสั่งสอนเขาด้วยสิทธิอำนาจ ?

"สั่งสอนด้วยสิทธิอำนาจ" หมายถึง คำสั่งสอนนั้นมีสิทธิและมีอำนาจเหนือผีร้าย แตะทั้งโลกวิญญาณ และโลกกายภาพ แตะต้องทุกชีวิตอย่างอัศจรรย์ มิใช่แค่ความรู้ ความเข้าใจในสมองที่ได้รับจากคำสอนแบบที่พวกธรรมจารย์ทำ แต่คำเทศนาสั่งสอนของพระเยซูนั้นมีฤทธิ์อำนาจ ช่วยคน ปลดปล่อยคน แก้ไขคน และสร้างคนได้ นั่นคือ "สิทธิอำนาจแห่งคำสั่งสอน"

คำเทศนาสั่งสอนจากพระคัมภีร์ สำคัญมาก มิใช่เป็นเพียงคำพูด หรือคำบรรยายใดๆ ให้ลึกซึ้ง ไม่ใช่การใช้โวหารที่มาจากความคิดหรือสติปัญญาของมนุษย์ แต่เบื้องหลัง คือ การถ่ายทอดความคิดของพระเจ้าที่บันทึกไว้ในพระวจนะของพระองค์ ว่าทรงมีพระประสงค์มาถึงชีวิตและสังคมของเราอย่างไร ตลอดจนการเจิมขององค์พระวิญญาณบริสุทธิ์ ที่อยู่เหนือชีวิตผู้เทศนาเอง ให้เต็มด้วยความรู้ ความเข้าใจ ความเชื่อ ความหวังใจ ความรัก ความสามารถ และฤทธิ์เดช

ตัวอย่าง - ทัศนาคติเรื่องคำเทศนาสั่งสอนของ อ.เปาโล ใน (1 คร.2.1-4)

- แนวทางที่พระเยซูทรงใช้เมื่อส่งสาวกออกไปเทศนาสั่งสอน ใน (มก.16.20)


ข้าพเจ้าหนุนใจให้คริสตจักรและผู้รับใช้เทศนาสั่งสอนจากพระคัมภัร์เป็นหลัก นั่นคือการเทศนาแบบอรรถธิบายพระคัมภีร์ ใช้เจตนารมย์ของพระคัมภีร์เป็นกรอบของเนื้อหาสาระทั้งหมด ใช้อย่างสัตย์ซื่อจำเพาะพระพักตร์พระเจ้า ไม่มีอะไรเคลือบแฝงที่จะพูด จะสื่อลงไปในคำเทศนาสั่งสอน ให้เกียรติความคิดของพระเจ้าในทุกข้อทุกตอนที่ปรากฎอยู่ในพระคัมภีร์ ไม่คึงเอามาเข้าข้างความคิดของผู้ที่เทศน์หรือผู้สอนเอง ซึ่งถ้าผู้สื่อสารของพระเจ้าทำได้เช่นนั้น ทั้งผู้ฟังและตัวผู้เทศนาเองจะสัมผัสได้ถึงการเจิมของพระเจ้า และได้เห็น "สิทธิอำนาจแห่งคำสั่งสอน" ว่าเป็นอย่างไร ผู้ฟังจะเกิด "แปลบปลาบใจ...ประหลาดใจ...และคัดค้านไม่ได้...." (กจ.2.37, 4.12-14)

ลักษณะสิทธิอำนาจแห่งคำสอน ?



1) สัมผัสจิตใจ (22)
"..เขาทั้งหลายก็อัศจรรย์ใจ ด้วยการสอนของพระองค์..."

ลักษณะสิทธิอำ นาจแห่งคำสอนนั้นจะสัมผัสจิตใจผู้คน เป็นคำสอนที่พระเจ้าทรงเจิมเอาไว้ เป็นถ้อยคำของพระเจ้า ไม่ใช่ของมนุษย์ (แม้พระองค์จะใช้มนุษย์ในการสื่อสารก็ตาม แต่สัมผัสได้ว่า ถ้อยคำนั้นเป็นของพระเจ้า ไม่ใช่ของข้าพเจ้า ผู้กำลังเทศน์ กำลังสอน ) มิใช่แค่คำบรรยาย คำเทศนาของผู้นำศาสนาหรือนักบวช เพราะ คำบรรยายนั้นไม่ได้ช่วยอะไร? เพราะมัน "ไม่มีอำนาจอะไร" ต่างจากถ้อยคำของพระเจ้า เสียงของพระเจ้า ที่มีฤทธิ์อำนาจเข้าไปสู่จิตใจ และจิตวิญญาณเราได้ ถ้าเราเปิดใจออก ใน (วว.3.20)พระเยซูตรัสว่า "นี่แนะเรายืนเคาะอยู่ที่ประตู ถ้าผู้ใดได้ยินเสียงเราและเปิดประตู เราจะเข้าไปหาผู้นั้น..."


เสียงของพระเจ้า ? ไม่ใช่เสียงที่ลอยมากระทบหูเราในอากาศ เราจะไม่ได้ยินแน่ ถ้าเราฟังที่ "หู" เท่านั้น แต่เราต้องฟังที่ "ใจ" เราต้องใช้หัวใจฟัง ไม่ใช่ใช้แค่หัวสมองฟัง? หมายถึง ยอมรับฟัง-น้อมรับฟัง (ยก.4.7) บอกว่า "...ท่านทั้งหลายจงน้อมใจยอมฟังพระเจ้า..."

เมื่อเราน้อมรับฟังเสียงของพระเจ้า เวลานั้นจะเกิดการสัมผัสในจิตใจ เช่น ใน (กจ.2.37) เมื่อเปโตร เทศนาครั้งแรกต่อพวกยิว ใน (ยรม.23.29) บอกเราว่า ถ้อยคำของพระเจ้านั้นมีฤทธิ์อำนาจ "เป็นดั่งไฟ หรือดั่งค้อนที่ทุบหินให้แตกเป็นชิ้นๆ" ใน (ฮบ.4.12) บอกว่า "พระวจนะของพระเจ้านั้นไม่ตายและทรงพลานุภาพอยู่เสมอ คมยิ่งกว่าดาบสองคม แทงทะลุกระทั่งจิตวิญญาณ ตลอดข้อกระดูกและไขในกระดูก และสามารถวินิจฉัยความคิดและความมุ่งหมายในใจได้ด้วย"





2) ทำลายอำนาจมืด (23-24)

"......ท่านมาทำลายเราหรือ...."


-เมื่อพระวจนะเข้ามา ผีอยู่ไม่ได้ สิ่งชั่วร้ายอยู่ไม่ได้ นี่คือลักษณะของสิทธิอำนาจแห่งคำสอนที่เด่นชัดอย่างหนึ่ง คือ "ทำลายอำนาจมืด ทำลายกิจการผีมารซาตาน" เพราะพระวจนะของพระเจ้านั้นเป็นดั่ง "ดาบฝ่ายวิญญาณ" (อฟ.6.17) ตัวอย่าง เมื่อพระเจ้าทรงเรียก ท่านเยเรมีย์ ตั้งแต่ท่านเป็นเด็ก และใช้ท่านเป็นนักเทศน์ใน (ยรม.1.7-10)
ใน (ยน.8.31-32)) พระเยซูตรัสสอนว่า "ถ้าท่านทั้งหลายดำรงอยู่ในคำของเรา ท่านก็เป็นสาวกของเราอย่างแท้จริง และท่านทั้งหลายจะรู้จักสัจจะ และสัจจะ จะทำให้ท่านทั้งหลายเป็นไท"

หมายถึง สิ่งที่จะพิสูจน์ว่า เรานั้นเป็นสาวกแท้หรือไม่ ก็คือ ชีวิตที่เชื่อฟัง โดยยอมอยู่ใต้สิทธิอำนาจแห่งพระวจนะ และลักษณะชีวิตแบบนั้นจะทำให้ชีวิตเราเป็นไทอย่างแท้จริง ไม่มีสิงใดผูกมัดเราได้เลย ชีวิตจะมีชัยชนะ ไม่ถูกผูกมัดด้วยอำนาจบาป อำนาจชั่วร้าย สิ่งไม่ดีใดๆ ทั้งฝ่ายกาย ฝ่ายจิตใจและฝ่ายจิตวิญญาณ




3) นำการเยียวยารักษา (25-26)

-พระเยซูทรงขับผีร้ายออกจากชายคนนี้ ทรงนำการเยียวยารักษามาถึงเขา

-สิทธิอำนาจแห่งพระคำนั้น ไม่ใช่แค่ทำลายอำนาจมืดเท่านั้นอย่างเดียว คำเทศนาสั่งสอนนั้นไม่ใช่ใช้ในมุมของการทำลายฟาดฟันคน แต่เป้าหมายแท้จริง เพื่อ "การเยียวยารักษา" แม้การรักษานั้นจะเจ็บ? บางครั้งอาจเจ็บมากๆ (ตัวอย่างที่ ชายคนนั้นถูกผีทำให้ชัก และเขาร้องเสียงดังมากด้วยความเจ็บปวด) นั่นหมายถึง ทุกครั้งที่สิทธิอำนาจแห่งพระคำมา มันอาจจะเจ็บและเจ็บมาก เพราะนั่นคือการรักษา การรักษาโรคนั้นเจ็บแน่ ไม่มีการรักษาโรคร้ายใดๆ เลยที่ไม่เจ็บ ยิ่งโรคร้ายแรงต้องผ่าตัด ต้องฉายแสงฆ่ามะเร็งมันจะเจ็บปวดมากๆ แต่ทุกคนยอมเจ็บปวดจากการรักษาโรคร้ายนั้น ก็เพราะเขารู้ว่าต่อมาภายหลังเขาจะหายจากโรค หายเจ็บ หายปวด เขาจะกลับมามีขีวิตใหม่อีกครั้ง และเขาจะแข็งแรง ซึ่งคนป่วยทุกคนยอมจ่ายราคาเงินทอง เวลา การเชื่อฟังหมอ วินัยในการทานยา และทนต่อความเจ็บปวด ทั้งหมดก็เพื่อเขาจะหายป่วยนั่นเอง

(สดด.127.20) "พระองค์ทรงใช้พระวจนะชองพระองค์ไปรักษาเขา และทรงช่วยกู้เขาจากหลุมของเขา"


(1ปต.2.24) "พระองค์ทรงรับแบกบาปของเราไว้ในพระกายของพระองค์ที่ต้นไม้นั้น ด้วยบาดแผลของพระองค์ ท่านทั้งหลายจึงได้รับการรักษาให้หาย"



4) สร้างความหวังใจ (27)

"...คนทั้งปวงก็ประหลาดใจ.....ทรงสั่งผีโสโครกด้วยสิทธิอำนาจ และมันจำค้องฟัง..."


ผู้คนเกิดความหวังใจ แม้ผีก็อยู่ในอำนาจ ต้องฟังพระเยซูคริสต์ ต้องฟังเสียงของพระองค์ ต้องฟังพระวจนะ นั่นหมายความว่าเราสามารถมีความหวังใจในพระวจนะได้เต็มเปี่ยม เพราะพระวจนะนั้นเป็นคำพูดของพระเจ้า ที่ทรงยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษร ตัวอย่าง คำพูด คำสัญญาใดๆ ของมนุษย์ ถ้าจะใช้เป็นหลักฐาน เป็นพยาน เพื่อผูกพันตามกฎหมายนั้นต้อง "ลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน" พระวจนะนั้นคือคำพูดของพระเจ้า ที่พระองค์ทรงลงลายพระหัตถ์ไว้เป็นหลักฐานเรียบร้อยแล้วนั่นคือ พระคัมภีร์ทั้ง 66 เล่มนั่นเอง พระเจ้ามิได้ทรงสัญญาอะไรลอยๆ แต่ทรงยืนยันลงลายมือ ทรงลงชื่อรับรองไว้เป็นหลักฐาน

(สดด.119.43) ดาวิด บอกว่า "ขออย่าทรงนำพระวจนะแห่งความจริงออกไปจากปากข้าพระองค์อย่างสิ้นเชิง เพราะความหวังของข้าพระองค์อยู่ในกฎหมายของพระองค์"


(สดด.139.17) ดาวิด บอกว่า "ข้าแต่พระเจ้า พระดำริของพระองค์ประเสริฐแก่ข้าพระองค์จริงๆ รวมกันเข้าก็ไพศาลนัก"

(ฉธบ.32.2) โมเสส บอกว่า "ขอให้คำสอนของข้าพเจ้า หยดลงอย่างเม็ดฝน และคำปราศรัยของข้าพเจ้า กลั่นตัวลงอย่างน้ำค้าง"



5) พาคนให้รู้จักพระเจ้า (28)
"...กิตติศัพท์ของพระองค์ ได้เลื่องลือไปทั่วแคว้นกาลิลี"

เป้าหมายสูงสุดของการใช้พระคัมภีร์ในการเทศนาสั่งสอน ทั้งหมดก็เพื่อนำคนให้กลับใจใหม่ นำฤทธิ์อำนาจแห่งฟ้าสวรรค์เข้าไปปลดปล่อยชีวิตผู้คน (กจ.1.8) "แต่ท่านทั้งหลายจะได้รับพระราชทานฤทธิ์เดช เมื่อพระวิญญาณบริสุทธิ์จะเสด็จมาเหนือท่านทั้งหลาน และท่านทั้งหลายจะเป็นพยานฝ่ายเรา ที่ในกรุงเยรูซาเล็ม ทั่วแค้วนยูเดีย แคว้นสะมาเรีย และจนสุดปลายแผ่นดินโลก"

พระวจนะที่ออกไปจากปากของเรานั้นไม่ควรสูญเปล่า ดั่งเจตนารมณ์ที่พระเจ้าทรงตรัสไว้ใน (อสย.55.11) ว่า "คำของเราซึ่งออกไปจากปากของเรา จะไม่กลับมาสูญเปล่า แต่จะสัมฤทธิ์ผล ซึ่งเรามุ่งหมายไว้ และให้สิ่งซึ่งเราใช้ไปทำนั้น จำเริญขึ้น"

พระเยซูทรงตรัสสั่งสาวกทุกคน รวมถึงท่านและข้าพเจ้าในเวลานี้ด้วยว่า "เจ้าทั้งหลายจงออกไปทั่วโลก ประกาศข่าวประเสริฐแก่มนุษย์ทุกคน" (มก.16.15)

บ้านนั้นมีอัศจรรย์ (มก.1.29-31)

( มก.1.29-31 ) บ้านนั้นมีอัศจรรย์

คำนำ พระเยซูได้เข้าไปบ้านของซีโมนเปโตร และได้พบ "แม่ยายของซีโมนนอนป่วยไข้อยู่" พระองค์ทรงรักษาความป่วยไข้ของนางให้หายอย่างอัศจรรย์ บ้านหลังนั้นมีการอัศจรรย์

ทั้งๆ เป็นบ้านของชาวประมงธรรมดา นั่นไม่ใช่แค่เพราะว่าบ้านหลังนั้นมีพระเยซูคริสต์เท่านั้นแน่ แต่บ้านหลังนั้นต้องมีอะไรพิเศษมากกว่านั้น....ถึงมี...อัศจรรย์ ?


1) เพราะบ้านนั้นไปโบสถ์ (29 ก)

"พอออกจากธรรมศาลา......."

คนบ้านนั้นไปธรรมศาลาในวันสะบาโตทุกคน ยกเว้นคนเดียว คือ แม่ยายของเปโตรที่นอนป่วยอยู่ แสดงว่าบ้านนี้รักพระเจ้ามาก ไม่ขาดการนมัสการในวันอาทิตย์ยกเว้นมีความจำเป็นจริงๆ เช่น ป่วย สอบ หรือกิจธุระที่เลี่ยงไม่ได้จริงๆ (ฮบ.10.24-25)


การไปโบสถ์สำคัญมาก มีผลต่อชีวิตฝ่ายวิญญาณของเราและต่อพระพรในทุกๆ ด้าน เราอยู่ในยุคสมัยที่คนเคร่งเครียดกับการทำงาน ซึ่งพระเจ้าเองก็ทรงเป็นนักทำงาน พระเจ้าทรงสร้างสรรพสิ่งและโลก 6 วัน แต่ในวันที่เจ็ดทรงหยุดพัก ทรงตั้งไว้เป็นวันบริสุทธิ์ (อพย.20.8-10) เพื่อเราจะได้ใช้วันนั้นนมัสการพระองค์ ฟังสิ่งที่พระองค์จะตรัสกับเราผ่านพระวจนะ (อสย.2.3, สดด.119.105) ร่วมสามัคคีธรรมและปรนนิบัติพี่น้องในพระกายเดียวกันนั่นเอง ( กจ.2.46 )


2) เพราะบ้านนั้นรับใช้ (29 ข)

"...พระองค์กับพวกของพระองค์จึงเข้าไปในเรือนของเปโตร..."

บ้านหลังนี้มีคนที่ถวายตัวรับใช้พระเจ้าอย่างแข็งแรง คือ ซีโมนเปโตร และน้องชายอันดูร์ ซึ่งทำให้บ้านหลังนี้รับพระพรตามไปด้วย เพราะใครที่รับใช้พระเจ้าเขาย่อมได้รับพระพรในฐานะผู้รับใช้พระเจ้าไปด้วย และผู้รับใช้พระเจ้ากับการอัศจรรย์นั้นเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ เป็นพระสัญญาที่องค์พระคริสต์ทรงประทานให้ผู้รับใช้ทุกๆ คน (กจ.1.8, มก.16.15-18)

ขอให้เราสนับสนุนลูกหลานและสมาชิกในบ้านทุกคนที่จะมีส่วนในการรับใช้พระเจ้าอย่างแข็งแรง ให้ถือว่าเป็นสิทธิพิเศษ เป็นเกียรติยศสูงสุดของครอบครัววงษ์ตระกูล (ยน.12.26) เป็นโอกาสดีที่สุดที่จะนำมาซึ่งพระพรมหาศาลที่จะได้ให้ครอบครัวของเรามีส่วนในการรับใช้พระเจ้า เช่น ครอบครัวของโยชูวา (ยชว.24.15) ครอบครัวของทิโมธี (2ทธ.1.5)


3) เพราะบ้านนั้นมีความเชื่อ (30 ก)

"แม่ยายของซีโมนนอนป่ายไข้อยู่ ในทันใดนั้น เขาจึงมาทูลพระองค์ ให้ทราบด้วยเรื่องของนาง"

พระคัมภีร์บอกว่า "ในทันใดนั้น เขาจึงมาทูลพระเยซูให้ทราบ" หมายถึงเมื่อเกิดเหตุการณ์ป่วยไข้พวกเขาวิ่งเข้าหาพระเยซูด้วยความเชื่อ เขาไม่รีรอ ไม่ลังเล เขาเชื่อ 100% ว่า พระเยซูสามารถช่วยเธอได้แน่ นี่คือสิ่งสำคัญมากสำหรับคริสเตียน เพราะถ้าไม่มีความเชื่อแล้ว เราก็จะไม่ได้รับ ไม่ได้พบการอัศจรรย์เลย เช่น (มธ.13.58) ที่นาซาเร็ธ บ้านเกิดของพระเยซูเอง ชาวบ้านไม่มีความเชื่อ พระคัมภีร์บอกว่า พระเยซูทรงทำการอัศจรรย์ที่นั่นไม่ค่อยได้ (ฮบ.11.6) ตรงกันข้ามกับคนที่มีความเชื่อที่เขาจะได้สัมผัสการอัศจรรย์อย่างแน่นอน (ยน.11.40) ตัวอย่าง นายร้อยผู้มีความเชื่อ เขาขอเพียงให้พระเยซูตรัสสั่งเท่านั้น เขาเชื่อแน่ว่า บ่าวของเขาที่นอนป่วยอยู่ที่บ้าน ก็จะหายป่วยได้ (มธ.8.6)

4) เพราะบ้านนั้นอธิษฐาน (30 ข)

"...เขาจึงมาทูลพระองค์ให้ทรงทราบด้วยเรื่องของนาง"

พวกเขาเข้าไปทูลต่อพระเยซูเพื่อให้พระองค์ทรงรักษาเธอให้หายนั่นเอง หากเราต้องการให้พระเจ้าทรงทำการอัศจรรย์ในชีวิตหรือในครอบครัวของเรา เราต้องอธิษฐาน (ฟป.4.6-7, มธ.7.7) บ้านที่ไม่มีการอัศจรรย์ คือ บ้านที่ไม่ค่อยอธิษฐาน (มธ.18.20, 2พศด.7.14, ยก.5.16) เราเป็นมนุษย์ที่ใช่ว่าจะเข็มแข็งได้ตลอดเวลา ครอบครัวของเราต้องการผู้หนึ่งที่คอยดูแล นั่นคือพระเจ้าครับ (สดด.127.1)


5) เพราะบ้านนั้นปรนนิบัติ (31)


"...นางจึงลุกขึ้นปรนบัติพระองค์กับพวกของพระองค์"

ปรนนิบัคิพระเจ้า ปรนนิบัติผู้รับใช้ และปรนนิบัติผู้อื่น จะนำมาซึ่งพระพรอย่างอัศรรย์ในชีวิต บางครั้งการอัศจรรย์เกิดขึ้นง่ายๆ ในเวลาที่ใครสักคนเริ่มถ่อมใจลงปรนนิบัคิผู้อื่น เพราะมนุษย์นั้นมี "อัตตา" (ความทนงในตนเอง) สูงมากๆ จึงมีคำพูดที่ว่า "ง่าย ที่จะปรนนิบัติรับใช้พระเจ้า แต่ไม่ง่าย ที่จะถ่อมใจลงปรนนิบัติผู้อื่นอย่างแท้จริง เป็นวิถีชีวิต" (มธ.20.28) พระเยซูทรงเป็นแบบอย่าง (ยน.13.1-5) เราต้องตระหนักว่า "การปรนนิบัติพี่น้อง ก็เท่ากับปรนนิบัติพระเยซู นั่นเอง" (มธ.25.40) และท่าทีแบบนี้ วิญญาณแบบนี้ ถ้ามีในครอบครัวใด บ้านใด ก็จะนำมาซึ่งพระพรและการอัศจรรย์ เช่น บ้านของหญิงหม้ายชาวเศราฟัท (1พกษ.17.1-24) ที่พระเจ้าทรงสอนให้ปรนนิบัติแม้จะยากจนที่สุด เพราะพระเจ้าจะทำการอัศจรรย์

ขอให้เราเปิดบ้านออก สอนลูกหลาน และพาทุกคนในบ้านของเราให้มีส่วนในงานของพระเจ้า ใช้บ้านของเราในการเป็นสถานประกาศ ทำกลุ่มเซล หรือใช้ต้อนรับเพื่อนผู้รับใช้ สนับสนุนงานของพระเจ้า และเวลานั้นบ้านนั้นจะมีอัศจรรย์

บทเรียนที่ไม่ควรลืมในเวลารับใช้ (มก.1:32-39)

(มก.1.32-39) บทเรียนที่ไม่ควรลืมในเวลารับใช้
คำนำ พระเยซูทรงเป็นต้นแบบในการรับใช้ของเราทั้งหลาย พระองค์ทรงเป็นพระบรมครู เราได้รับบทเรียนมากมายเมื่อมองดูการรับใช้ของพระองค์
1) ไม่ควรลืมว่า "เป็นงานที่ต้องเสียสละ" (32)
"เวลาเย็นวันนั้น ครั้นตะวันตกแล้ว......"
"ครั้นตะวันตกแล้ว" หมายถึง มืดค่ำแล้วแต่งานรับใช้ยังดำเนินต่อไป งานยังไม่เสร็จ ยังมีคนมากมายต้องการการช่วยเหลือที่มาจากพระเจ้า นั่นแสดงให้เห็นว่า งานรับใช้นั้นไม่มีกำหนดเวลาเข้างาน หรือ เลิกงาน เป็นงานที่ทำตลอดเวลา ซึ่งคนที่เสียสละเท่านั้นจะรับใช้ได้
ดังนั้นผู้ที่จะรับใช้พระเจ้า ต้องตระหนักเสมอว่างานที่เรากำลังทำนั้น เป็นงานที่ต้องเสียสละ เพราะเป็นงานหนัก เป็นงานที่ต้องทำให้ด้วยหัวใจ ด้วยความรัก ไม่เช่นนั้นเราจะทำไม่ได้
-มาตราฐานของการเป็นสาวก คือ "การเสียสละ" พระเยซูตรัสใน (มก.8.34) บอกว่า "ถ้าผู้ใดจะใคร่ตามเรามา ให้ผู้นั้นเอาชนะตนเอง รับกางเขนของตน แบกและตามเรามา"
-ผู้รับใช้ / ผู้นำ / ผู้เลี้ยง ต้องเสียสละ (ยน.10.11)
2) ไม่ควรลืมว่า "เป็นงานที่ต้องเห็นแก่คนมากมาย" (33)
"และคนทั้งเมือง ก็แตกตื่นมาออกันอยู่ที่ประตู"
มืดค่ำแล้วแต่คนมากมายยังต้องการพระเยซู และพระองค์ก็ตอบสนองประชาชนโดยการช่วยเหลือพวกเขา นี่คือสิ่งที่ผู้รับใช้ต้องตระหนักเสมอ คือ เห็นแก่ส่วนรวม มิใช่ส่วนตัว
เราต้องเห็นแก่ชีวิตผู้คนมากมายเป็นหลัก มิใช่เห็นแก่ชีวิตของตนเอง หรือของครอบครัวของตนเองเป็นหลัก แต่เห็นแก่คนอีกมากมายที่ยังต้องการพระเจ้า ตัวอย่าง พระเยซูทรงเลี้ยงประชาชน 5,000 คน เพราะเห็นแก่พวกเขาที่มาฟังคำสอนและไม่มีอาหารทาน แม้สาวกจะขอให้ประชาชนกลับบ้านไปหาอะไรรับประทาน แต่พระเยซูทรงบอกให้เลี้ยงประชาชน (มธ.14.15-16) คัวอย่าง กษัตริย์ดาวิด ทรงหิวน้ำ แต่ก็ไม่ยอมดื่มน้ำที่บรรดาทหารยอมเสี่ยงชีวิตกันฝ่าวงล้อมข้าศึกออกไปเอาน้ำมาให้พระองค์ดื่ม แสดงให้เห็นถึงการเห็นคุณค่าของคนหลายคน มากกว่าความต้องการส่วนตัว (2ซมอ.23.17) ตัวอย่าง อับราฮัม เห็นแก่คนมากมายที่เมืองโสโดม และท่านร้องขอชีวิตต่อพระเจ้า (ปฐก.18.22) เผื่อว่าจะมีคนชอบธรรมอยู่ที่นั่นบ้าง ตัวอย่าง พระเจ้าทรงเห็นแก่คนมากมายที่เมืองนีนะเวห์ ขณะที่โยนาห์ไม่สนใจชีวิตคนมากมายเหล่านั้น (ยนา.4.10-11)
3) ไม่ควรลืมว่า "เป็นงานที่ต้องรอบคอบ" (34)
"...แต่ผีเหล่านั้น พระองค์ทรงห้ามมิให้มันพูด เพราะว่ามันรู้จักพระองค์"
พระเยซูคริสต์ทรงรอบคอบ ทรงรู้ว่านี่ไม่ใช่เวลาที่จะเปิดเผยว่าพระองค์เป็นใคร เพราะงานใหญ่จะเสียหาย งานพระเจ้า งานคริสตจักร งานที่เกี่ยวข้องกับสวรรค์ กับชีวิตคน เป็นงานใหญ่ที่ต้องการความละเอียดรอบคอบ เพราะถ้าทำอะไรไม่ระวัง ไม่รอบคอบ ก็จะนำความเสียหายมาสู่งานรับใช้ได้ ดังนั้นต้องคิดใคร่ครวญ ต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน ก่อนพูด และก่อนตัดสินใจกระทำสิ่งใดลงไป เพราะจะส่งผลมากมายต่อหลายชีวิต และต่อพระเกียรติของพระเจ้า ตัวอย่าง ดาวิดใจร้อนจะฆ่านาบาล ผู้หมิ่นประมาทดาวิด แต่นางอาบีกายิล ภรรยาของนาบาล ได้เข้ามาให้สติจนดาวิดได้สติ และขอบคุณนางในความรอบคอบ (1ซมอ.25.3)
-(ยก.1.19) "ให้ไวในการฟัง ช้าในการพูด ช้าในการโกรธ"
-(มธ..48) " จงเป็นคนดีรอบคอบ เหมือนอย่างพระบิดาของท่าน... เป็นผู้ดีรอบคอบ"
4) ไม่ควรลืมว่า "เป็นงานที่ต้องพึ่งพาพระเจ้า" (35)
"ครั้นเวลาเช้ามืด....ทรงเสด็จออกไปยังที่เปลี่ยว...อธิษฐาน"
งานรับใช้พระเจ้า ผู้รับใช้พระเจ้า เป็นงานที่ใกล้ชิดพระเจ้า ใกล้ชิดสวรรค์ เราต้องการกำลังที่มาจากพระเจ้า พระเยซูคริสต์เองทรงเป็นแบบอย่างในการพึ่งพากำลังที่มาจากพระบิดา เราเองก็ควรทำเช่นนั้น ต้องอธิษฐานก่อนเริ่มต้นรับใช้ในแต่ละวัน ต้องมีสถานที่ๆ เราจะสามารถสงบต่อพระเจ้า ทูลรายงานพระองค์ถึงงานที่ทรงมอบหมายให้เราดูแล สื่อสาร และฟังเสียงพระองค์ เราต้องพึ่งกำลังที่มาจากพระเจ้าผู้ทรงเป็นแหล่งแห่งกำลัง มิใช่พึ่งพาแต่สิ่งอื่นที่คิดเหมาเอาว่าจะช่วยเราได้ โดยลืมปรึกษากับพระเจ้า
-(อสย.31.1) "วิบัติแก่คนเหล่านั้น ผู้ลงไปอียิปต์ หมายพึ่งรถรบรถม้า แต่ไม่ได้พึ่งพระเจ้า"
เราต้องให้พระเจ้านำหน้าเราในการทำงานของพระองค์ อย่าเดินนำหน้าพระองค์แต่ให้พระองค์นำ เพื่อเราจะไม่พลาดและล้มเหลว (ฉธบ.31.8) "ผู้ไปข้างหน้าคือพระเจ้า พระองค์สถิตอยู่ด้วย จะไม่ทรงปล่อยท่านให้ล้มเหลว หรือทอดทิ้งท่านเสีย..." ตัวอย่าง ทีมประกาศ ของ เปาโล สิลาส และทิโมธี ขณะกำลังประกาศที่ฟิลิปปี ใน (กจ.16.13) บอกว่า "ในเช้าวันสะบาโต ท่านได้ออกจากประตูเมือง ไปยังฝั่งแม่น้ำ เข้าใจว่ามีที่อธิษฐาน"
5) ไม่ควรลืมว่า "เป็นงานเพื่อการประกาศข่าวประเสริฐ" (36-39)
"...ให้เราทั้งหลายไปในตำบลบ้านใกล้เคียง เพื่อเราจะได้ประกาศที่นั่น ด้วยที่เรามาก็เพื่อการนั้นเอง.."
ขณะที่พระเยซูกำลังอธิษฐานอยู่ พวกสาวกได้เข้าไปขัดจังหวะของการอธิษฐาน แต่เมื่อพระเยซูทรงทราบถึงเป้าหมายในการเข้ามาขัดจังหวะของสาวกก็คือ มาบอกพระองค์ว่า "คนทั้งปวงแสวงหาพระองค์" (36) พระองค์ก็ได้ตัดสินใจลุกขึ้นนำในการประกาศข่าวประเสริฐทันที โดยตระหนักว่า พระองค์เสด็จเข้ามาในโลกนี้ก็เพื่อการนั้น คือ เพื่อประกาศข่าวประเสริฐ ดังนั้นการประกาศ การช่วยคน จึงสำคัญมากที่สุด เราสามารถละการอธิษฐาน หรือละพันธกิจด้านอื่นๆ ไว้ก่อนได้ เมื่อต้องช่วยคนให้ได้รับความรอด
อย่าอ้างการอธิษฐาน หรือ มัวแต่แสดงออกในการอธิษฐาน แต่เท้าไม่ก้าวออกไป ปากไม่เปิดออกพูดข่าวประเสริฐ (รม.10.14-15) เป็นคริสเตียนที่ชอบบอกให้พระเจ้าทำงาน แต่ตัวเองไม่ทำงาน อาจเป็นเพราะไม่กล้า ไม่เข้าใจ หรือ ไม่รู้เลยว่าหน้าที่ของคริสเตียนคืออะไร ! หรือ เป็นคริสเตียนที่ถนัดไปทางขอๆๆ เก่งไปในทางพูดๆๆ แต่ไม่ได้ตระหนักถึง ภาระใจและนิมิต ของพระเจ้า ที่ปรารถนาที่จะเห็นคนทั้งโลกที่หลงหายไปเพราะความบาป กลับมาหาพระเจ้า (2ปต.3.9) เราต้องไม่ลืมหัวใจความต้องการของพระเยซู ในการเรียกเราให้รับใช้พระองค์ ก็เพื่อข่าวประเสริฐนั่นเอง (มธ.28.19-20, มก.16.15, กจ.1.8)
-(1คร.9.16) อ.เปาโล บอกว่า "ถ้าข้าพเจ้าไม่ประกาศข่าวประเสริฐ วิบัติจะเกิดกับข้าพเจ้า"
-(รม.10.20) อ.เปาโล ตั้งเป้าในชีวิตของท่านว่า "...จะประกาศข่าวประเสริฐ ในที่ซึ่งไม่มีใครเคยออกพระนามพระคริสต์มาก่อน..."
-(1คร.9.22) อ.เปาโล บอกว่า "...ข้าพเจ้ายอมเป็นคนทุกชนิดต่อคนทั้งปวง เพื่อจะช่วยเขาให้รอดได้บ้างโดยทุกวิถีทาง"
-(รม.1.17) "เพราะว่าในข่าวประเสริฐนั้น ความชอบธรรมของพระเจ้า ก็ได้สำแดงออก โดยเริ่มต้นก็ความเชื่อ สุดท้ายก็ความเชื่อ ตามที่พระคัมภีร์มีเขียนไว้ว่า คนชอบธรรมจะมีชีวิตดำรงอยู่โดยความเชื่อ"